News Property

การเตรียมตัวก่อนการซื้อบ้าน

บ้านเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวใฝ่ฝันที่จะได้ครอบครองเป็นเจ้าของกันทั้งนั้น สำหรับคนที่ต้องการมีบ้านเป็นของตนเองแล้ว ทางเลือกหนึ่งก็คือการกู้ซื้อบ้าน การกู้ซื้อบ้านเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถเป็นเจ้าของบ้านได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้จะมีธนาคารหรือสถาบันการเงินอยู่หลายแห่งที่ปล่อยวงเงินสินเชื่อทำเพื่อการซื้อบ้านและที่อยู่อาศัย แต่ก่อนที่เราจะทำการกู้ซื้อบ้านนั้นเราควรที่จะเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ก่อนที่จะเข้าไปติดต่อกับทางธนาคาร เพื่อที่วงเงินสินเชื่อที่เราต้องการกู้นั้น จะได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็วไม่ติดขัด

 

สำหรับพนักงานประจำ

1.ประวัติการทำงานสลิปเงินเดือน หนังสือรับรองรายได้เงินเดือน เอกสารการรับรายได้เงินเดือน สำหรับคนที่ทำงานประจำแล้วต้องการยื่นกู้กับทางธนาคารต้องทำงานกับทางบริษัทมาอย่างน้อย 6 เดือน  – 1 ปี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงเกี่ยวกับการทำงานของเรา แสดงถึงความมั่นคงของสถานะทางการเงิน

2.เครดิตต้องดี หนี้ต้องไม่มีการกู้เงินซื้อบ้านจะมีการเช็คเครดิตบูโร เพื่อดูประวัติทางด้านการเงินของคุณด้วย สำหรับคนที่ประวัติทางด้านการเงินไม่ดี มียอดค้างชำระหรือติดแบล็คลิสต์แล้วล่ะก็ รับรองได้ว่าคุณมีโอกาสที่จะกู้ผ่านนั้นน้อยมาก ดังนั้นก่อนที่คุณจะทำเรื่องกู้นั้น คุณต้องเคลียร์หนี้สินให้หมดเสียก่อนอย่างน้อย 6 เดือน แต่สำหรับคนที่ไม่สามารถเคลียร์ได้หมด คุณต้องทำให้หนี้เหลือน้อยที่สุดประมาณ 10%ของรายรับหรือไม่มีเลย

3.เงินสำรองต้องพร้อม ก่อนที่เราจะทำการซื้อบ้านเราต้องมีเก็บสำรองไว้ก้อนหนึ่งก้อน เงินก้อนนี้จะเท่ากับจำนวนเงินดาวน์ของบ้านที่เราต้องจ่ายรวมกับค่าผ่อนบ้านที่เราต้องผ่อนอย่างน้อย 6 เดือน โดยปกติแล้วตามโครงการบ้านจัดสรรจะมีการดาวน์ประมาณ 5-20% ของราคาบ้านอยู่แล้ว ยิ่งเราจ่ายเงินดาวน์มากเท่าไหร่ เราก็จะเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารน้อยเท่านั้น

4.เลือกธนาคาร ในการยื่นกู้เราควรศึกษาเกี่ยวกับกู้ซื้อบ้านของหลายๆธนาคาร เพราะแต่ละธนาคารจะมีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน เวลายื่นก็แนะนำให้ยื่นกู้กับธนาคารหลายๆแห่ง เพราะว่าธนาคารแต่ละแห่งนั้นมีหลักเกณฑ์การตัดสินอนุมัติวงเงินสินเชื่อที่ต่างกัน คุณกู้ธนาคารแห่งแรกไม่ผ่าน แต่ธนาคารแห่งที่สองเรื่องกู้ของคุณอาจจะผ่านก็ได้

5.จัดเตรียมเอกสาร การเข้าไปยื่นเรื่องกับทางธนาคารเราควรเตรียมเอกสารให้ครบตามที่ธนาคารได้กำหนดไว้ จะได้ไม่เสียเวลาเดินทางหลายรอบเนื่องจากเอกสารไม่ครบ เอกสารในการยื่นเรื่องของแต่ละธนาคารก็คล้ายคลึงกัน แต่อาจจะมีแตกต่างกันบ้าง เราสามารถสอบถามกับทางธนาคารก่อนที่เราจะเข้าไปยื่นเรื่องได้

6.อัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารจะมีให้เลือกหลายแบบ มีทั้งแบบลอยตัวและแบบคงที่ การเลือกอัตราดอกเบี้ยบ้านนั้น ช่วงแรกแนะนำให้เลือกอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ จะเป็นแบบคงที่ตลอด 3-5 ปีหรือคงที่แบบขั้นบันไดก็ได้ ดอกเบี้ยคงที่ตลอดนั้นจะมีอัตราเฉลี่ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได การที่เราควรเลือกอัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงแรก เพื่อช่วยให้รับปรับตัวกับการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อขึ้นมา การที่อัตราดอกเบี้ยคงที่ก็หมายถึงหนี้ที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือนก็คงที่ด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเลือกอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เราจะไม่สามารถกำหนดหรือรู้ล่วงหน้าได้ว่าในเดือนนั้นเราต้องจ่ายเท่าไหร่ ทำให้เราไม่สามารถวางแผนการเงินล่วงหน้าได้การเลือกดอกเบี้ยแบบคงที่จึงถือเป็นทางเลือกที่ดี

 

สำหรับคนที่ทำอาชีพอิสระ

คนที่ทำอาชีพอิสระนั้นการเตรียมตัวเบื้องต้นก็จะเหมือนกับพนักงานประจำ แต่สิ่งที่ต่างกันคือหลักฐานทางการเงิน คนที่ทำอาชีพอิสระถ้ามีร้านค้าต้องมีสำเนาทะเบียนการค้า หรือหนังสือการจดทะเบียนนิติบุคคล บัญชีเงินฝากควรเป็นบัญชีเงินฝากแบบกระแสรายวัน และควรมีประวัติการเดินบัญชีธนาคารย้อนหลังไปอย่างน้อย 6 เดือน และสิ่งที่มักเป็นปัจจัยสำคัญในการอนุมัติสินเชื่อ คือหลักทรัพย์ที่ใช้ในการค้ำประกันเงินกู้ เช่น โฉนดที่ดิน โฉนดบ้าน เป็นต้น ซึ่งถ้าหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันมีมูลค่าสูงมากวงเงินกู้ การอนุมัติสินเชื่อก็ง่ายเพราะธนาคารจะคิดว่าคุณคงไม่ปล่อยให้ยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันแน่นอน ในเมื่อหลักทรัพย์นั้นมีมูลค่าสูงกว่าบ้าน

อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่กำลังจะซื้อบ้าน ไม่ว่าจะปลูกสร้างเองหรือซื้อบ้านตามโครงการบ้านที่มีอยู่ทั่วไป เราต้องคำนึงถึงปัจจัยและความพร้อมของตัวเราเองด้วย ว่าเรามีความพร้อมที่จะรับผิดชอบในการผ่อนบ้านได้มากน้อยเท่าใดเพราะการผ่อนบ้านนั้นถือเป็นการผ่อนที่มีระยะเวลายาวนานเริ่มที่ 10-30 ปี เราควรเลือกบ้านที่ราคาพอเหมาะกับรายรับของเรา ไม่ใช่ว่ามีรายได้น้อยแต่เลือกซื้อบ้านที่มีราคาสูงมาก

by: ขายบ้านศรีราชา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *